หากคุณไม่ได้มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย ก็จงให้ครอบครัวที่ร่ำรวยมาจากคุณ “มรดกทางความคิด”

สิ่งหนึ่งที่เรามักจะเห็นว่าคนที่ทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จนั้นมีเหมือนๆ กัน ก็คือ พวกเขามักเต็มไปด้วย Passion อันแรงกล้า และ เปี่ยมไปด้วยพลังงานอันล้นเหลือ ที่สำคัญ คือ พวกเขาเป็นคนใจสู้ และ ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ
.
แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า จริงๆ แล้ว คำว่า “Passion” นั้นมีรากศัพท์มาจากคำว่า “Passio” ซึ่งแปลว่า “ความเจ็บปวด”
.
หากเราลองศึกษาประวัติของคนที่ประสบความสำเร็จให้ลึกลงไปจริงๆ คุณจะพบว่า Passion อันสวยหรูที่เราเห็นในปัจจุบัน หลายครั้งมันมักจะเป็นผลมาจากความเจ็บปวดในอดีตที่ไม่น่าอภิรมณ์นัก
.
บางคนเจ็บปวดเพราะเคยเห็นพ่อแม่ลำบาก
บางคนเจ็บปวดเพราะเคยต้องกัดก้อนเกลือกิน
บางคนเจ็บปวดเพราะเคยโดนคนรอบข้างดูถูก
.
แต่สำหรับน้อง สเก็ต ปิยฉัตร บุตรเนียร สาวน้อยมหัศจรรย์ วัยเพียง 21 ปี เธอต้องเจอกับความเจ็บปวด 3 ข้อที่กล่าวมา โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการสูญเสียคุณพ่อซึ่งเป็นเสาหลักไปอย่างกะทันหันจากอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ตอนอายุ 14 ปี ทำให้รายได้หลักของบ้านนั้นขาดหายไป ทิ้งเอาไว้เพียงหนี้ก้อนใหญ่จากรถยนต์อีก 2 คัน
.
เธอจึงต้องเห็นคุณแม่เหน็ดเหนื่อยทำงานหนักคนเดียว จากที่เคยมีบ้านอยู่ ก็ต้องไปเช่าบ้านหลังเล็กๆ ริมคลองที่ต้องยัดสิ่งของเครื่องใช้ แม้กระทั่งตู้กับข้าวเอาไว้ในห้องๆ เดียว ส่วนตอนกลางคืนก็ต้องปูผ้านอนบนพื้นห้องนอนเอา
.
แต่แทนที่เธอจะเอาความเจ็บปวดนั้นมาทำร้ายตัวเอง เธอกลับใช้มันเป็นแรงผลักดันเพื่อถีบตัวเองขึ้นมาจนสามารถปลดหนี้ทั้งหมดให้ครอบครัว ซื้อบ้านหลังใหม่ให้แม่ ออกรถในฝันอย่าง BMW ให้ตัวเอง และ กลายเป็นวัยรุ่นเงินล้านได้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ
.
คำถามคือ เธอทำได้ยังไง ?
.
.
ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน น้องสเก็ตได้รับข่าวร้ายที่สุดในชีวิต นั่นคือ คุณพ่อของเธอถูกรถชนจนได้รับกระทบกระเทือนทางศีรษะ ทันทีที่เกิดเหตุทุกคนรีบนำตัวคุณพ่อส่งโรงพยาบาลทันที แต่ด้วยความที่ฐานะทางบ้านไม่ดีนัก จึงทำได้แค่นำตัวคุณพ่อไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ
.
แต่ก็อย่างที่ทุกคนรู้กันดี นอกจากจะต้องรอคิวนานหลายชั่วโมงแล้ว ทางโรงพยาบาลก็ไม่ได้ตรวจอะไรเลยนอกจากทำแผลที่ศีรษะแล้วให้กลับบ้าน
.
แต่หลังจากที่กลับมาบ้านปรากฎว่าคุณพ่อก็ปวดหัวอย่างหนักจนทนไม่ไหว แต่ด้วยความที่ตอนนั้นเวลาตี 2 ซึ่งดึกมากแล้ว ทำให้โรงพยาบาลเดิมไม่มีหมอ จึงจำเป็นต้องกัดฟันนำตัวคุณพ่อไปที่โรงพยาบาลเอกชนแทน
.
แต่มันก็ช้าเกินไป เพราะพ่อของเธอเสียเลือดมาก แถมยังมีเลือดคลั่งในสมอง ทำให้ทนพิษบาดแผลไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องจากไปอย่างกะทันหัน โดยที่ไม่ได้เตรียมใจอะไรไว้เลย แน่นอนว่าถ้าเธอมีเงินมากกว่านี้ พ่อของเธออาจได้รับการรักษาที่ดีกว่านี้และคงไม่จากครอบครัวไปเร็วแบบนี้
.
โดยของมีค่าเพียงสิ่งเดียว ที่พ่อของเธอทิ้งเอาไว้ให้ ก็คือ “มรดกทางความคิด”
.
เพราะตอนที่คุณพ่อยังอยู่ หากน้องสเก็ตอยากจะได้อะไร คุณพ่อจะสอนให้รู้จักทำงาน หาเงินไปซื้อด้วยตัวเองอยู่เสมอ มันจึงทำให้เธอไม่อายที่จะทำงานตั้งแต่ยังเด็ก
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณพ่อจากไป ครอบครัวของเธอก็เหลือเพียงแค่ แม่ และ พี่สาว ซึ่งเป็นผู้หญิงทั้งหมด แถมบ้านเดิมที่ จ.ร้อยเอ็ด ก็อยู่ในซอยเปลี่ยว จึงทำให้คุณลุงเป็นห่วงมากๆ และไม่อยากปล่อยให้อยู่กันตามลำพัง ประกอบกับตัวเธอเองกำลังจะขึ้น ม.4 พอดี
.
คุณลุงจึงพาทั้งเธอและแม่มาอยู่กรุงเทพฯ โดยคุณลุงได้ขายกิจการร้านกาแฟเล็กๆ ให้คุณแม่ของเธอเพื่อเอาไว้ทำมาหากินเลี้ยงชีพ แล้วก็ไปเช่าบ้านหลังเล็กๆ อยู่ริมคลองซึ่งเป็นห้องสี่เหลี่ยมที่ต้องยัดทุกสิ่งทุกอย่างในห้องเดียวพร้อมกับต้องนอนกันบนพื้นกลางห้อง
.
น้องสเก็ตเล่าว่า “ตอนนั้นรู้สึกน้อยใจชีวิตตัวเองมากๆ บอกตามตรง คือ ไม่ชอบชีวิตตัวเองเลย ทำไมชีวิตมันถึงได้แย่ลง จากที่เคยนอนบนเตียง ก็ต้องลงมานอนบนพื้น จากที่ชีวิตกำลังจะดีเพราะพ่อกำลังสร้างตัวก็ดันมาแย่ลง”
.
อย่างไรก็ตาม เธอก็ยังอดทน แล้วช่วยคุณแม่ขายกาแฟในวันหยุดและหลังเลิกเรียน โดยคุณแม่จะให้เงินเล็กๆ น้อยๆ กับน้องสเก็ตเป็นค่าจ้างเพื่อให้เธอเรียนรู้ว่า “ถ้ารู้จักทำงาน ลูกก็จะได้ค่าตอบแทน”
.
ซึ่งในจังหวะนั้นเองเธอก็เริ่มสังเกตเห็นสีหน้าและแววตาของคุณแม่ที่เปลี่ยนไป เพราะถึงแม้ว่าคุณแม่จะเป็นคนเก็บอาการเก่ง เพราะไม่อยากให้ลูกรู้สึกว่าครอบครัวมีปัญหา เธอแทบไม่เคยเห็นแม่ร้องให้เลยยกเว้นวันที่คุณพ่อเสีย
.
แต่ถึงแม้ว่าจะเก็บอาการเก่งแค่ไหน หากคนเราอมทุกข์อยู่ในใจ มันก็มักจะแสดงออกผ่านสีหน้าเสมอ เธอเริ่มสังเกตสีหน้าที่หมองหม่นของคุณแม่ ซึ่งทำให้เธอสัมผัสได้ทันที ว่าแม่เหนื่อยขนาดไหน สีหน้าของแม่เหมือนแบกอะไรไว้เต็มหลัง
.
จนสุดท้ายเธอก็มารู้ว่า บ้านหลังที่ครอบครัวอาศัยอยู่นั้น มีค่าเช่ามากถึงเดือนละ 15,000 บาท ซึ่งมันหนักมากๆ เมื่อรวมกับหนี้รถยนต์ที่ยังคงค้างอยู่ เทียบกับกำไรจากค่ากาแฟแค่ไม่กี่บาท
.
ทันทีที่เธอรู้เรื่องราวทั้งหมด เธอบอกกับตัวเองทันทีว่า “จะไม่ยอมให้ตัวเองมีชีวิตแบบนี้อีกแล้ว”
.
และนั่นก็คือจุดเปลี่ยนให้เธอพยายามหารายได้ด้วยตัวเองแบบจริงจัง ซึ่ง ณ ตอนนั้น เธอเองก็ไม่ได้คิดถึงขนาดว่าจะต้องช่วยเหลือครอบครัวได้ เพียงแต่อยากมีเงินไว้กินไว้ใช้หรือซื้อของที่อยากได้โดยไม่ต้องขอคุณแม่ก็พอ
.
แต่คำถาม คือ เด็กอายุแค่ 16 ปี เงินทุนก็ไม่มี แล้วจะไปเริ่มทำธุรกิจได้ยังไง ?
.
คำพูดหนึ่งที่ผมมักจะบอกกับคนที่อยากเริ่มต้นธุรกิจ แต่ติดเรื่องเงินทุน ก็คือ “ถ้าเงินน้อย ก็จงใช้สมองให้มาก”
.
เพราะความจริงแล้ว สิ่งที่ผลิตเงินให้เราก็คือ “สมอง” เพราะต่อให้คุณ “มีเงิน” มากแค่ไหน แต่ถ้า “คิดไม่เป็น” เงินพวกนั้นก็มลายหายไปอยู่ดี
.
สิ่งที่น้องสเก็ตทำก็คือ การเข้าไปในกลุ่มซื้อขายเสื้อผ้าในเฟซบุ๊ก เพื่อเลือกแบบเสื้อผ้าที่สวยๆ มา แล้วก็นำรูปไปบวกราคาโพสต์ขายให้กับลูกค้าหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวของตัวเองหรือในกลุ่มอื่นๆ เมื่อได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้ามา เธอก็ไปสั่งซื้อเสื้อผ้าจากผู้ขายอีกทีแล้วให้ส่งสินค้าตรงไปหาลูกค้าเลย ส่วนเธอก็เก็บเงินส่วนต่างไว้เป็นกำไร
.
วิธีการแบบนี้ในปัจจุบันอาจไม่ได้แปลกอะไร เพราะใครๆ ก็ทำกัน แต่อย่าลืมว่า น้องสเก็ตคิดแบบนี้ได้ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ที่สำคัญ คือ ตอนนั้นเธออายุแค่ 16 ปี เท่านั้น
.
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การขายเสื้อผ้านั้นเป็นอะไรที่ยากมาก เพราะไหนจะสี ไหนจะไซส์ เวลาลูกค้าถามเข้ามา เธอก็ต้องทักไปถามผู้ขายว่ามีของไหม กว่าผู้ขายจะตอบก็ต้องรอหลายขั่วโมง พอได้คำตอบกลับมาบอกลูกค้าอีกที ลูกค้าก็ไม่อยากได้แล้ว เรียกได้ว่า กว่าจะขายได้แต่ละตัวมันยากมากๆ
.
น้องสเก็ตจึงคิดว่าต้องหาสินค้าอื่นๆ ที่ขายง่ายขึ้น ซึ่งตอนนั้นเธอก็ไปเจอขนมบราวนี่กรอบชิ้นละ 35 บาท ที่มีคนขายในเฟซบุ๊กซึ่งดูน่าสนใจ เธอก็เลยทักไปถามว่าอยากจะนำมาขายต้องทำอย่างไร ซึ่งเธอก็เอาเงินจากกำไรขายเสื้อผ้าที่มีไปเปิดบิลซื้อขนมมา แล้วนำไปขายเพื่อนๆ ที่โรงเรียน
.
ผลปรากฎว่าขายดีมากๆ เพราะสั่งมาทีไรก็ขายหมดทุกที ซึ่งมันทำให้เธอรู้สึกหัวใจฟองโตมากๆ
.
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่สินค้าเป็นขนม กำไรมันจึงได้มาแค่หลักหน่วย บวกกับความที่เป็นเด็ก จึงไม่รู้วิธีการจัดการเงิน เธอรู้สึกว่าขายได้ก็จริง แต่ทำไมเงินไม่ค่อยเหลือ เพราะพอเธอขายได้ เธอก็เอาเงินมามัดรวมกัน แล้วก็หยิบออกมาใช้จ่ายซื้อของที่อยากได้ รู้อีกทีเงินทุนที่มีก็หายไปไหนไม่รู้
.
เธอจึงเริ่มคิดหาอย่างอื่นมาขายในโรงเรียนเพิ่ม โดยสิ่งที่เธอทำก็คือ การไป “สำรวจตลาด” โดยการถามคนในโรงเรียนก่อนว่า ถ้าเธอเอาของสิ่งนี้มาขาย จะมีคนในโรงเรียนยอมจ่ายเงินซื้อสักกี่คน
.
จนในที่สุดเธอก็ตัดสินใจว่าจะขายสินค้าพวกสกินแคร์ เช่น สบู่ แป้ง ครีม เซรั่ม ราคาหลักสิบ เพื่อให้คนในโรงเรียนสามารถซื้อได้
.
ซึ่งตอนแรกเธอก็ไม่ได้สต็อกของเหมือนเดิม และ ใช้วิธีการเดิม คือ ถ้ามีคนสั่งก็ค่อยไปซื้อมาแล้วเดินส่งตามห้องเรียน จนเมื่อเธอเริ่มมีฐานลูกค้า และ เริ่มรู้แล้วว่าลูกค้าในโรงเรียนชอบใช้อะไรกันบ้าง เธอก็เริ่มสต็อกสินค้าเพื่อทำให้ต้นทุนนั้นถูกลง
.
อย่างไรก็ตาม พอเราเริ่มทำธุรกิจอะไรแล้วขายดี คนอื่นเห็นเรานับเงินทุกวัน ใครๆ เขาก็อยากจะเข้ามาแบ่งเงินจากเราไป
.
จากที่น้องสเก็ตเริ่มขายสินค้าสกินแคร์คนเดียว ก็เริ่มมีคนในโรงเรียนเอามาขายกันเยอะแยะเต็มไปหมด ทำให้เริ่มมีการตัดราคากันเกิดขึ้น จากที่เคยผูกขาดตลาดในโรงเรียนคนเดียว ก็เริ่มมีคู่แข่งเข้ามาแบ่งกำไรไป
.
เธอจึงเริ่มคิดที่จะขยายตลาดไปขายสินค้าต่างโรงเรียน ส่วนในโรงเรียนของตัวเอง เธอก็ผันตัวไปเป็นคนขายส่ง รับลูกค้าเฉพาะตัวแทนที่มาเปิดบิลเท่านั้น ไม่ขายปลีกอีกแล้ว ปล่อยให้คนอื่นเขาขายกัน ส่วนเธอก็หาลูกค้าต่างโรงเรียน แล้วขับรถมอเตอร์ไซค์ไปส่งของตามนัดในช่วงหลังเลิกเรียน และ วันหยุดเสาร์อาทิตย์
.
มาถึงตรงนี้ จะพบว่าน้องสเก็ตมีคุณสมบัติหนึ่งของนักธุรกิจที่เปล่งประกายออกมาตั้งแต่เด็ก นั่นก็คือ เธอเป็นคนที่ ช่างสังเกต ทดลอง เรียนรู้ ปรับปรุง และ เปลี่ยนแปลง อยู่ตลอดเวลา
.
มันจึงทำให้เธอสามารถหยุดขอเงินค่าขนมจากแม่ และ จ่ายค่าเทอมเองตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ม.5
.
เธอสนุกกับการขายของ และ มีความสุขกับการใช้จ่ายเงินของตัวเองตามประสาเด็ก โดยไม่ได้คิดถึงอนาคตอะไรมาก จนกระทั่งเธอเริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนสุนันทา เธอก็ยังขายของมาตลอด โดยที่ไม่หยุดเรียนรู้ ไม่หยุดลงมือทำ ไม่หยุดเปลี่ยนแปลงตัวเอง
.
ไม่เคยมีเลยสักครั้งที่เธอหยุดขายของ ถึงแม้ว่าจะมีคนมากมายสบประมาทเธอว่า “เดี๋ยวก็ไปไม่รอดหรอก เพราะพอขึ้นมหาลัยจะต้องเรียนหนักขึ้น มีเวลาน้อยลง เดี๋ยวก็คงเลิกขายของไปเอง
.
แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เพราะเมื่อขึ้นมหาลัยแล้ว เราไม่ได้ต้องเรียนทั้งวันตั้งแต่ 8 โมงเช้า – 4 โมงเย็น เหมือนตอนมัธยมเสียหน่อย ที่สำคัญ คือ มหาลัยจะมีช่วงพักระหว่างคาบที่เยอะมากๆ มันขึ้นอยู่กับว่า จะเอาช่วงเวลานั้น ไปนอน ไปดูหนัง ไปเที่ยว หรือ จะเอาไปทำมาหากิน เท่านั้นเอง
.
ซึ่งแน่นอนว่าน้องสเก็ตเลือกที่จะขายของ จึงทำให้ตอนปี 1 เธอมีเพื่อนน้อยมาก เพราะเวลาเพื่อนชวนไปดูหนัง หรือ ไม่เที่ยว เธอก็มักจะปฏิเสธเพราะต้องกลับไปแพ็คของส่งให้ลูกค้า
.
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าฉากหน้าเธอจะดูเป็นแม่ค้าที่ขายดี แต่หารู้ไม่ว่าฉากหลังเธอแทบจะไม่มีเงินเลย เพราะสินค้าราคาหลักสิบที่เธอขายกำไรมันน้อยเกินไป ซึ่งไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งค่ากล่อง ค่าเดินทางไปส่ง และ อื่นๆ
.
เธอจึงรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง หรืออาจจะต้องขายสินค้าราคาสูงขึ้น แต่ก็ยังมีความลังเลอยู่บ้าง เพราะกลัวว่าถ้าขยับไปขายสกินแคร์ราคาหลักร้อยแล้วจะขายไม่ได้
.
แต่อยู่ๆ ก็มีความคิดนึงวิ่งเข้ามาในหัวบอกเธอว่า “ถ้าไม่ยอมเปลี่ยน เราก็ต้องอยู่ที่เดิม แต่ถ้าลองเปลี่ยนแล้วมันไม่เวิร์ค ก็ค่อยกลับมาขายสินค้าตัวเดิมก็ได้”
.
เธอจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาขายสินค้าราคา 300-500 บาท ทันที เพื่อให้ตัวเองมีกำไรมากขึ้น
.
แน่นอนว่าตอนแรกมันไม่ได้ง่าย เพราะพอเปลี่ยนสินค้า กลุ่มลูกค้าก็เปลี่ยน ลูกค้าเดิมหายไป ลูกค้าใหม่ตัดสินใจนานขึ้น มันไม่ง่ายเหมือนตอนขายของราคาถูก
.
แต่สิ่งที่เธอได้มากกว่านั้นก็คือ การได้เข้าไปอยู่ในสังคมใหม่ๆ ของแบรนด์ที่เธอไปสมัครเป็นตัวแทน ไปเจอการทำงานอีกระดับ ที่มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น
.
และ เธอก็ไม่เคยปล่อยให้โอกาสนั้นผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเหมือนอากาศ เธอมุ่งมั่นพัฒนาฝีมือการขายของตัวเอง เข้าร่วมทุกแคมเปญที่ทางแบรนด์จัดขึ้น จนเจ้าของแบรนด์เห็นในความตั้งใจของเธอ บวกกับยอดขายที่ทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เธอจึงได้รับการโปรโมตขึ้นเป็นแม่ทีมในตอนนั้น
.
สิ่งที่ผมเจอมากับตัว และ เห็นจากคนประสบความสำเร็จหลายๆ คน ก็คือ คนรวยส่วนใหญ่เป็นคนดี ถ้าคุณอ่อนน้อมถ่อมตน แสดงให้เขาเห็นถึงความตั้งใจ รับรองเลยว่าคนรวยส่วนใหญ่จะอยากสอนคุณ
.
ผิดกับที่คนส่วนใหญ่มักพูดว่า “คนรวยส่วนใหญ่ชอบเอาเปรียบ เขามีสอนใครฟรีๆ หรอก เพราะเขาไม่อยากให้คนอื่นรวยมาแข่งกับเขา”
.
ถ้าให้พูดตามตรงนะครับว่า “ก็เพราะทัศนคติแบบนี้แหละ คนรวยเขาถึงไม่อยากเข้าใกล้ เพราะเขารู้ว่าถ้าสอนไป ให้โอกาสไป คนเหล่านี้ก็ไม่คิดจะทำตาม พอไม่ได้อะไรดั่งใจก็นั่งโทษชาวบ้านอีก” ซึ่งมันเสียเวลาคนรวยเขาครับ
.
ถ้าได้ไปสัมผัสคนรวยจริงๆ บอกเลยว่าคนรวยส่วนใหญ่ อยากให้คนรอบข้างตัวเองรวยขึ้น นั่นก็เพราะเขารู้สึกภูมิใจหากมีส่วนทำให้ใครบางคนรวยขึ้นเพราะเขาได้ ที่สำคัญ อย่าเข้าใจผิดว่าการที่คุณรวยขึ้นมันจะทำให้คนรวยเหล่านั้นจนลง
.
เพราะความจริงแล้ว ความรวยของคุณ ไม่ได้มีผลกับความรวยของเขาด้วยซ้ำ กลับกัน มันจะยิ่งทำให้ต่างคนต่างรวยขึ้นเสียอีก เพราะพอคุณรวยขึ้น คุณก็มีเงินมาอุดหนุนกัน ที่สำคัญ คุณอาจนำเงินที่ตัวเองหาได้ไปร่วมลงทุน หรือ ทำธุรกิจเพื่อต่อยอดความรวยด้วยกันไปอีก
.
และ สิ่งหนึ่งที่เจ้าของแบรนด์ถามกับน้องสเก็ตก็คือ “เป้าหมายในปีหน้า คือ อะไร ?”
.
ซึ่งในใจลึกๆ สิ่งที่น้องสเก็ตอยากจะทำมาก ก็คือ การมีบ้านเป็นของตัวเอง เพื่อลบความเจ็บปวดที่ตัวเองมี แต่เธอก็ลืมไปแล้วว่ามันคือ “ความฝัน” เพราะคิดมาตลอดว่าบ้านราคาเป็นล้าน เธอคง “ทำไม่ได้”
.
แต่เพราะคำสั้นๆ ที่เจ้าของแบรนด์ตอบน้องสเก็ตมาว่า “แต่พี่เชื่อ ว่าเอ็งทำได้ !!”
.
คำๆ เดียวที่เรียกว่า “ความเชื่อ” ที่คนตรงหน้าส่งมอบมาให้ มันเปลี่ยนความสงสัย ให้กลายเป็นความเชื่อมั่น และ เป็นพลังให้เธอมุ่งมั่นทำงานหนักต่อไป
.
และในที่สุดความสำเร็จแรกของเธอก็มาถึง เธอสามารถปิดหนี้สินทั้งหมดให้คุณแม่ได้สำเร็จ เพราะตัวเธอคงไม่สามารถทำตามความฝันของตัวเองได้อย่างสบายใจ หากแม่ของเธอยังแบกรับภาระหนี้อันหนักอึ้งอยู่
.
หลังจากที่เธอหมดห่วงแล้ว เธอก็กลับมาโฟกัสเป้าหมายของตัวเองเต็มที่ จนในที่สุดสิ่งที่เธอพยายามมาตลอด 5 ปี ก็ผลิดอกออกผล
.
เธอสามารถซื้อบ้านราคา 3.9 ล้านบาทได้สำเร็จ สิ่งที่เธอเห็นในวันที่พาคุณแม่ย้ายจากบ้านหลังเก่าโทรมๆ ริมคลอง เข้ามาอยู่บ้านหลังใหม่ ก็คือ
.
สีหน้าของแม่ที่เปลี่ยนไป จากที่เคยหม่นหมอง ก็มีแต่ความสดใส แววตาที่เอ่อล้นไปด้วยความสุข
.
มันจบแล้วสินะ !! สิ่งที่แม่แบกมาตลอด 5 ปี จบสักที… หลังจากวันนี้… เราจะสร้างชีวิตใหม่ไปด้วยกัน !!
.
คุณแม่ของเธอพูดอะไรไม่ออก นอกจากคำว่า “ขอบคุณนะ ที่พยายาม ขอบคุณนะลูกที่ทำเพื่อครอบครัว”
.
.
มาถึงตรงนี้ จะพบว่า กุญแจสำคัญที่ทำให้เด็กอายุเพียง 21 ปี สามารถถีบตัวเองขึ้นมาได้ขนาดนี้ ก็คือ
.
1) อย่ามองแต่สิ่งที่ขาด จนพลาดในสิ่งที่มี
.
หากวันแรกที่เริ่มต้น น้องสเก็ตบอกตัวเองว่าไม่มีเงินทุน ชีวิตก็คงไม่ก้าวหน้าไปไหน แต่สิ่งที่น้องสเก็ตแสดงให้เห็นก็คือ ต่อให้ไม่มีเงินทุนมากมาย คนเราก็ยังมี หนึ่งสมอง สองมือ และ อวัยวะน้อยใหญ่อีก 32 ประการ
.
คุณก็แค่ใช้สมองคิดหาวิธี ใช้ปากถามความต้องการจากลูกค้า หาสินค้า จับแพะชนแกะไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอ และ ที่สำคัญคือ ใช้สองมือที่มี “ทำ” มันจนสุดชีวิต
.
2) เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
.
จะเห็นว่าสิ่งที่ทำให้น้องสเก็ตเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด ก็คือ น้องจะเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เสมอ ถ้าประตูบานหนึ่งปิด ก็จะหาประตูบานอื่นที่เปิด จะไม่ยอมให้ตัวเองย้ำอยู่กับที่นานๆ แต่จะหาหนทางใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
.
เพราะคนเราจะสำเร็จเร็วแค่ไหน มันขึ้นอยู่กับว่า เราเปลี่ยนแปลงตัวเองเร็วแค่ไหนด้วย
.
3) ใช้ “ออนไลน์” สร้างพลังทวี
.
ออนไลน์ คือ เครื่องมือที่จะทำให้เรา “ทำงานได้มากขึ้น แต่ใช้แรงน้อยลง” ถ้าน้องสเก็ตยังเอาขนมและสกินแคร์ไปขายที่โรงเรียนเหมือนเดิม ตอนนี้ชีวิตก็คงยังไม่เติบโต เพราะหากจะขายสินค้าให้คนทั่วประเทศ ก็คงต้องลงทุนขยายสาขามากมาย แต่น้องสเก็ตรู้ดี ว่าตัวเองโชคดีที่เกิดมาในยุคออนไลน์ น้องจึงใช้เครื่องมือนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อที่ตัวเองจะได้ขายสินค้าให้กับคนจำนวนมากทั่วประเทศได้โดยใช้เวลาน้อยลง แถมไม่ต้องลงทุนเปิดสาขาเพิ่มด้วย
.
ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าน้องสเก็ตไม่ยอมใช้ประโยชน์ของพลังทวีจากออนไลน์ กว่าจะซื้อบ้านกับรถ BMW ได้ ก็คงต้องรอไปจนอายุ 40 ปี
.
.
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะอย่าลืมว่าน้องสเก็ตอายุแค่ 21 ปี เท่านั้นเอง ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมงที่ผมได้นั่งคุยกับน้องสเก็ต ผมเห็นถึงสีหน้าและแววตาของน้องประกอบกับพลังที่ถูกส่งออกมาผ่านคำพูดและน้ำเสียง มันทำให้ผมสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่น หากบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ น้องก็คงจะบอกว่า “ฉันจะเอาอีก ฉันต้องโตกว่านี้ และ ฉันจะไม่หยุดอยู่แค่นี้”
.
และ ผมก็เชื่อเหลือเกินว่า อนาคตของเด็กคนนี้ยังไปได้อีกไกลมากๆ หากคุณอยากจะเรียนรู้วิธีการสร้างธุรกิจแบบคนตัวเล็ก ที่ไม่มีเงินทุนมากมาย หรือ ยังอยู่ในวัยเรียน ผมแนะนำให้ไปติดตามน้องได้ตามลิงก์ที่ผมทิ้งเอาไว้ข้างล่างนี้ได้เลยครับ
.
Facebook : https://www.facebook.com/piyachat.butnain.50
Instagram : https://www.instagram.com/imsagetjuon/
Tiktok : http://www.tiktok.com/@imsagetjuon
.
.
.

สังคมคนสร้างธุรกิจจากศูนย์